วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2556

หลักสูตรใหม่

"ภาวิช"โวหลักสูตรใหม่เจ๋งกว่าของเก่า

“ภาวิช” โวครูประถมต้นพอใจหลักสูตรใหม่ได้ผลตอบรับดีเกินคาด คาดปิดเล่มวันที่ 23 ก.ค.นี้ ระบุวิชาเรียนและชั่วโมงเรียนเกือบลงตัวแล้ว เหลือแต่ครูยังไม่ได้บริหารจัดการว่าต้องสอนวิชาอะไรใน 6 กลุ่มสาระใหม่ เล็ง 3-4 โมเดล จัดครูนำร่องหลักสูตรใหม่ในโรงเรียน 3,000 โรงก่อนปีหน้า 
    ศ.ภาวิช ทองโรจน์ อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยความคืบหน้าการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน หลังจากนำร่างหลักสูตรใหม่ชั้นประถมต้น (ป.1-3) ไปประชุมร่วมกับครูประถมศึกษาตอนต้น ที่ จ.ขอนแก่น เมื่อเร็วๆ นี้ ว่าทางคณะทำงานได้ข้อมูลจากการแสดงความคิดเห็นของครูที่มาร่วมประชุม ซึ่งขณะนี้กำลังไปประมวลผลเพื่อปรับในบางรายละเอียด และคาดว่าในส่วนร่างหลักสูตรใหม่ชั้นประถมต้นน่าจะปิดเล่มได้ในวันที่ 23 ก.ค.นี้ ทั้งนี้ ในส่วนรายวิชาเรียนชั้นประถมต้นนั้น จะมี 3 วิชาหลัก ได้แก่ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษและภาษาไทย และ 4 วิชาบูรณาการ ได้แก่ วิชาบ้านของเราโลกของเรา วิชาเด็กในวิถีประชาธิปไตย วิชาชีวิตกับการเรียนรู้ และวิชาศิลปะและพลานามัยเพื่อชีวิต ส่วนชั่วโมงเรียนชั้นประถมต้นนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดตายตัว เพราะต้องทำรายละเอียดให้ครบถ้วนก่อน แต่ในหลักการกำหนดไว้ไม่เกิน 700 ชั่วโมง จากเดิม 1,000 ชั่วโมงต่อปี
    ส่วนการที่ยังนำวิชาภาษาอังกฤษให้เริ่มเรียนตั้งแต่ ป.1 เหมือนเดิม ขณะที่บางประเทศ อาทิ เกาหลี ให้เริ่มเรียนชั้นประถมปลายนั้น เนื่องจากเราวิเคราะห์ข้อมูลแล้วว่าทักษะทางภาษาจะทำได้ดีแม้แต่อายุยังน้อย ประกอบกับข้อมูลของโรงเรียนอินเตอร์ทั้งหลายก็ยืนยันอย่างนั้น เราใส่ตามเดิม ส่วนการบริหารจัดการครูให้รองรับการสอนกลุ่มวิชาใหม่นั้น คิดว่าคงต้องเกิดในช่วงโครงการนำร่อง เพราะรูปแบบการจัดการครูต้องเป็นแบบคิดไปทำไป โดยในปีแรกที่จะนำร่องก่อนในโรงเรียน 3,000 โรงนั้น อาจต้องใช้รูปแบบการจัดการครูถึง 3-4 โมเดล จากนั้นค่อยมาประเมินเพื่อเลือกว่ารูปแบบใดดีที่สุดแล้วค่อยนำไปใช้ ไม่เหมือนกับหลักสูตรปัจจุบันที่ขั้นตอนการนำไปใช้ เพราะเราเรียกเพียงศึกษานิเทศก์มาอบรมแล้วไปขยายผลเองเท่านั้น แต่ตามหลักวิชาการ การนำหลักสูตรใหม่ไปใช้ไม่จบเพียงเท่านั้น
    “การจัดประชุมดังกล่าวได้ผลตอบรับดีเกินคาดจากครู เพราะครูเมื่อเปิดดูรายละเอียดหลักสูตรใหม่ที่ร่างกันมาเกิดความพอใจอย่างมาก แต่ส่วนที่ยังมีคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์บางคนยังติดใจและค้านการปฏิรูปหลักสูตรนั้น ก็ไม่เป็นไร เพราะที่ผ่านมาเราก็ได้ชี้แจงผลการดำเนินงานกับ รมว.ศึกษาธิการแล้ว และวันนั้นประธานกลุ่มครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย 16 สถาบันก็เข้าร่วมชี้แจงด้วย เพราะเป็นหนึ่งในอดีตคณะกรรมการปฏิรูปฯ ดังนั้นก็รอเพียงนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการเท่านั้น ว่าจะให้เดินหน้าต่อไปอย่างไร รวมถึงการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปฯ ใหม่ เพื่อเดินหน้าปฏิรูปต่อไป อย่างไรก็ดี คิดว่าสิ่งที่ผมและคณะกำลังดำเนินการอยู่เป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว” ศ.ภาวิชกล่าว
    สำหรับร่างหลักสูตรใหม่มี 6 กลุ่มสาระ ได้แก่ 1.ภาษาและวัฒนธรรม (Language and Culture) 2.วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM) 3.การดำรงชีวิตและโลกของงาน (Work Life) 4.ทักษะสื่อและการสื่อสาร (Media Skill and Communication) 5.สังคมและมนุษยศาสตร์ (Society and Humanity) และ 6.อาเซียน ภูมิภาคและโลก (Asean Region and World) จากปัจจุบันที่แบ่งเป็น 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้.  

ข่าวหลักสูตร 57

ศธ.ปรับหลักสูตรใหม่เหลือ 6 กลุ่มวิชา ปีหน้าติดเครื่องลด "ชม.เรียน"

Prev
1 of 1
Next
คลิกภาพเพื่อขยาย
updated: 17 มิ.ย. 2556 เวลา 10:37:11 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ศธ.เดิน หน้าปรับหลักสูตรใหม่ ประถมฯลดชั่วโมงเรียนเหลือ 5 คาบต่อวัน มัธยมฯ 6 คาบ นำร่อง 3 พันโรงปี""57 "ภาวิช"เผยรื้อใหม่เหลือ 6 กลุ่มวิชา"ภาษา-วิทย์-ไอซีที-สังคม-โลก-ชีวิต" ระดับ "ป.1-2 "เน้นคณิต-อังกฤษ-ไทย
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน นายภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า หลังจากที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตร มีตนเป็นประธาน และคณะกรรมการการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ มีรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธาน ขณะนี้มีความคืบหน้าของการดำเนินการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานไปมาก แล้ว โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะทำงาน 6 กลุ่ม ในวันที่ 27 มิถุนายน จะประชุมหารือร่วมกันทั้งหมดเพื่อพิจารณาหลักสูตรที่แต่ละส่วนรับผิดชอบอยู่ ก่อนจะนำมาประกอบเป็นหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรฯ ที่มีนายพงศ์เทพเป็นประธานได้พิจารณา

นายภาวิชกล่าวต่อว่า สำหรับหลักสูตรใหม่จะแบ่งการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาออก เป็น 6 กลุ่มสาระวิชา ได้แก่ 1.กลุ่มภาษาและวรรณกรรม 2.วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี 3.เทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) 4.สังคมและความเป็นมนุษย์ 5.โลก ภูมิภาคและอาเซียน และ 6.ชีวิตกับโลกของงาน อย่างไรก็ตาม นอกจากจะมีคณะทำงาน 6 กลุ่มแล้ว จะมีคณะทำงานกลางมาดูความเชื่อมโยงและความซ้ำซ้อนใน 6 กลุ่มของสาระวิชา หากเจอว่าซ้ำซ้อน ก็ต้องบูรณาการให้เล็กลง

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวว่า ในส่วนของระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2 จะเน้นทักษะ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ส่วนวิชาที่เหลือ จะนำ 6 กลุ่มสาระวิชามารวมแล้วแยกเป็น 4 วิชา ได้แก่ 1.บ้านของเรา โลกของเรา 2.ชีวิตกับการเรียนรู้ จะทำอย่างไรถึงจะสร้างความอยากรู้อยากเห็นของนักเรียน 3.เด็กในวิถีประชาธิปไตย เป็นการเรียนรู้เพื่ออยู่ในสังคมแบบมีส่วนร่วม ความมีจิตสาธารณะ ศาสนา และ 4.ศิลปะและพลานามัยเพื่อชีวิต การจัดหลักสูตรดังกล่าว ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-2 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ส่วนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ขึ้นไปจะจัดการศึกษาออกเป็น 6 กลุ่มสาระวิชา แต่จะมีรายละเอียดที่แตกย่อยออกไปในแต่ละระดับชั้น เช่น ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จะเน้นการเรียนในทางลึกมากขึ้น จะแยกวิชาออกเป็นฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา รวมทั้งจะมีทางเลือกให้กับนักเรียนเพื่อเรียนต่อในมหาวิทยาลัย และสำหรับนักเรียนที่ไม่ต้องการเรียนต่อมหาวิทยาลัย จะให้ทางเลือกเพื่อเรียนต่อสายอาชีพระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในหลักสูตรเดิมนั้นจะมีทางเลือก

ให้กับนักเรียนมัธยมศึกษาตอน ปลายเพื่อการเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเท่านั้น ส่วนเด็กที่ไม่ได้เรียนต่อ จะไม่ได้มีการส่งเสริมหรือให้ทางเลือกอะไร

�เนื้อหาของหลักสูตรใหม่ อาจจะไม่เปลี่ยนมาก เพราะจริงๆ แล้วเนื้อหาที่ใช้ในการเรียนการสอนได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นลำดับอยู่แล้ว เพียงแต่หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ใช้ในปัจจุบันจะมี 8 กลุ่มสาระวิชา แต่ของใหม่จะเหลือเพียง 6 กลุ่มสาระ ตำราต่างๆ อาจจะต้องค่อยๆ ปรับปรุงไป โดยอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปีนับจากมีการประกาศใช้� นายภาวิชกล่าว และว่า หลักสูตรใหม่จะกำหนดทักษะจำเป็น 10 ประการของเด็กเมื่อเรียนหนังสือจบ อาทิ ทักษะด้านไอซีที การงานและอาชีพ เป็นต้น ส่วนการเรียนการสอนไม่ได้ลดการเรียนรู้ แต่จะลดการเรียนในห้องเรียน เพิ่มกิจกรรมนอกห้องเรียน โดยจะต้องเน้นประสบการณ์เรียนรู้ใน 6 ด้าน ได้แก่ 1.การอ่านเพื่อการเรียนรู้ ต่อไปครูต้องกระตุ้นให้เด็กอ่านมากขึ้น 2.การเรียนการสอนแบบโครงการ ทั้งด้านสังคม ศาสนา วิทยาศาสตร์ และจะนำไปสู่ทักษะที่พึงประสงค์ เช่น การค้นหาปัญหา การทำงานร่วมกับผู้อื่น 3.ไอซีที 4.คุณธรรมและจิตสาธารณะ 5.ความเป็นประชาธิปไตย 6.อาชีพ

นายภาวิชกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม การปรับหลักสูตรใหม่จะทำให้ลดชั่วโมงเรียนในห้องเรียนลง โดยระดับประถมศึกษาจะเหลือการเรียนในห้องเรียนประมาณ 600 ชั่วโมงต่อปี และจะให้เรียนนอกห้องเรียน 400 ชั่วโมงต่อปี จะมีผลทำให้นักเรียนเรียนในห้องเรียนเพียง 5 คาบต่อวัน จากเดิมเรียนประมาณ 6-7 คาบ ส่วนมัธยมศึกษาจะให้เหลือ 6 คาบต่อวัน ทั้งนี้ ในปีการศึกษา 2557 จะนำร่องใช้หลักสูตรรอบแรกในโรงเรียนที่เป็นเครือข่ายของสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 30 แห่ง รวมประมาณ 3,000 โรงเรียน และจะให้โรงเรียนนำร่องสร้างเครือข่ายโรงเรียนแห่งละ 10 โรงเรียน จะทำให้ขยายโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรใหม่เป็น 30,000 กว่าแห่ง

ด้าน นายพินิติ รตะนานุกูล ผู้ตรวจราชการ ศธ. ในฐานะประธานคณะทำงานกลุ่มโลก ภูมิภาคและอาเซียน กล่าวว่า กลุ่มโลก ภูมิภาคและอาเซียน มีความคืบหน้าในการดำเนินงานเกือบ 100% แล้ว กลุ่มนี้จะเป็นวิชาที่เชื่อมโยงเรื่องประวัติศาสตร์ สังคม รวมถึงเรื่องอาเซียนเข้าไปด้วย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์จะต้องเขียนขึ้นใหม่ เพราะที่ผ่านมาประเทศใดเขียนประวัติศาสตร์ ก็จะเข้าข้างตัวเอง ทำให้เกิดความขัดแย้ง แต่ในหลักสูตรใหม่จะเขียนประวัติที่สร้างความเข้าใจที่ดีร่วมกัน ทั้งนี้ หลักสูตรในกลุ่มของตนเองจะต้องมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มอื่นๆ ด้วย เพื่อให้การเรียนการสอนเป็นไปตามเป้าหมาย ต่อไปเยาวชนในยุคศตวรรษที่ 21 จะต้องรู้เท่าทันในเรื่องต่างๆ อย่างรอบด้าน อาทิ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ไอที เป็นต้น โดยในการประชุมวันที่ 27 มิถุนายนนี้ แต่ละกลุ่มจะมาดูว่าแต่ละวิชาจะมีความเชื่อมโยงกันตรงจุดใดบ้าง